บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
[351] ภูมิ 4 หรือ 31 (ชั้นแห่งจิต, ระดับจิตใจ, ระดับชีวิต — planes of existence; planes of life) 1. อบายภูมิ 4 (ภูมิที่ปราศจากความเจริญ — planes of loss and woe; unhappy planes) 1) นิรยะ (นรก — woeful state; hell) 2) ติรัจฉานโยนิ (กำเนิดดิรัจฉาน — animal kingdom) 3) ปิตติวิสัย (แดนเปรต — ghost-sphere) 4) อสุรกาย (พวกอสูร — host of demons) 2. กามสุคติภูมิ 7 (กามาวจรภูมิที่เป็นสุคติ, ภูมิที่เป็นสุคติซึ่งยังเกี่ยวข้องกับกาม — sensuous blissful planes) 1) มนุษย์ (ชาวมนุษย์ — human realm) 2) จาตุมมหาราชิกา (สวรรค์ชั้นที่ท้าวมหาราช 4 ปกครอง — realm of the Four Great Kings) 3) ดาวดึงส์ (แดนแห่งเทพ 33 มีท้าวสักกะเป็นใหญ่ — realm of the Thirty-three Gods) 4) ยามา (แดนแห่งเทพผู้ปราศจากความทุกข์ — realm of the Yama gods) 5) ดุสิต (แดนแห่งเทพผู้เอิบอิ่มด้วยสิริสมบัติของตน — realm of satisfied gods) 6) นิมมานรดี (แดนแห่งเทพผู้ยินดีในการเนรมิต — realm of the gods who rejoice in their own creations) 7) ปรนิมมิตวสวัตดี (แดนแห่งเทพผู้ยังอำนาจให้เป็นไปในสมบัติที่ผู้อื่นนิรมิตให้ — realm of gods who lord over the creation of others) ภูมิทั้ง 11 ใน 2 หมวดนี้ รวมเป็น กามาวจรภูมิ 11 (ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในกาม — sensuous planes) 3. รูปาวจรภูมิ 16 (ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูป, ชั้นรูปพรหม — form-planes) ก. ปฐมฌานภูมิ 3 (ระดับปฐมฌาน — first-Jhana planes) 1) พรหมปาริสัชชา (พวกบริษัทบริวารมหาพรหม — realm of great Brahmas’ attendants) 2) พรหมปุโรหิตา (พวกปุโรหิตมหาพรหม — realm of great Brahmas’ ministers) 3) มหาพรหม (พวกท้าวมหาพรหม — realm of great Brahmas) ข. ทุติยฌานภูมิ 3 (ระดับทุติยฌาน — second-Jhana planes) 4) ปริตตาภา (พวกมีรัศมีน้อย — realm of Brahmas with limited lustre) 5) อัปปมาณาภา (พวกมีรัศมีประมาณไม่ได้ — realm of Brahmas with infinite lustre) 6) อาภัสสรา (พวกมีรัศมีสุกปลั่งซ่านไป — realm of Brahmas with radiant lustre) ค. ตติยฌานภูมิ 3 (ระดับตติยฌาน — third-Jhana planes) 7) ปริตตสุภา (พวกมีลำรัศมีงามน้อย — realm of Brahmas with limited aura) 8) อัปปมาณสุภา (พวกมีลำรัศมีงามประมาณหามิได้ — realm of Brahmas with infinite aura) 9) สุภกิณหา (พวกมีลำรัศมีงามกระจ่างจ้า — realm of Brahmas with steady aura) ง. จตุตถฌานภูมิ 3—7 (ระดับจตุตถฌาน — fourth-Jhana planes) 10) เวหัปผลา (พวกมีผลไพบูลย์ — realm of Brahmas with abundant reward) 11) อสัญญีสัตว์ (พวกสัตว์ไม่มีสัญญา — realm of non-percipient beings) (*) สุทธาวาส 5 (พวกมีที่อยู่อันบริสุทธิ์ หรือ ที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์ คือ ที่เกิดของพระอนาคามี — pure abodes) คือ 12) อวิหา (เหล่าท่านผู้ไม่เสื่อมจากสมบัติของตน หรือผู้ไม่ละไปเร็ว, ผู้คงอยู่นาน — realm of Brahmas who do not fall from prosperity) 13) อตัปปา (เหล่าท่านผู้ไม่ทำความเดือดร้อนแก่ใคร หรือผู้ไม่เดือดร้อนกับใคร — realm of Brahmas who are serene) 14) สุทัสสา (เหล่าท่านผู้งดงามน่าทัศนา — realm of Brahmas who are beautiful) 15) สุทัสสี (เหล่าท่านผู้มองเห็นชัดเจนดี หรือผู้มีทัศนาแจ่มชัด — realm of Brahmas who are clear-sighted) 16) อกนิฏฐา (เหล่าท่านผู้ไม่มีความด้อยหรือเล็กน้อยกว่าใคร, ผู้สูงสุด — realm of the highest or supreme Brahmas) 4. อรูปาวจรภูมิ 4 (ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูป, ชั้นอรูปพรหม — formless planes) 1) อากาสานัญจายตนภูมิ (ชั้นที่เข้าถึงภาวะมีอากาศไม่มีที่สุด — realm of infinite space) 2) วิญญาณัญจายตนภูมิ (ชั้นที่เข้าถึงภาวะมีวิญญาณไม่มีที่สุด — realm of infinite consciousness) 3) อากิญจัญญายตนภูมิ (ชั้นที่เข้าถึงภาวะไม่มีอะไร — realm of nothingness) 4) เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ (ชั้นที่เข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ — realm of neither perception nor non-perception) ปุถุชน พระโสดาบัน และพระสกทาคามี ย่อมไม่เกิดในสุทธาวาสภูมิ; พระอริยะไม่เกิดในอสัญญีภพ และในอบายภูมิ; ในภูมินอกจากนี้ ย่อมมีทั้งพระอริยะ และมิใช่อริยะไปเกิด. ในพระไตรปิฎก ไม่พบที่ใดแสดงรายชื่อภูมิทั้งหลายไว้ทั้งหมดในที่เดียว บาลีแสดงรายชื่อภูมิมากที่สุด (มีเฉพาะชั้นสุคติภูมิ) พบที่ ม.อุ. 14/318-332/216-225 (M.III. 99-103) กล่าวตั้งแต่มนุษย์ขึ้นไปจนถึงอรูปาวจรภูมิ. ในบาลีแห่งทีฆนิกาย เป็นต้น* แสดงคติ (ที่ไปเกิดของสัตว์, แบบการดำเนินชีวิต — destiny; course of existence) ว่ามี 5 คือ นิรยะ ติรัจฉานโยนิ เปตติวิสัย มนุษย์ และเทพ (พวกเทพ — heavenly world ได้แก่ภูมิ 26 ตั้งแต่จาตุมหาราชิกาขึ้นไปทั้งหมด) จะเห็นว่าภูมิ 31 สงเคราะห์ลงได้ในคติ 5 ทั้งหมด ขาดแต่อสุรกาย อย่างไรก็ดีในอรรถกถาแห่งอิติวุตตกะ** ท่านกล่าวว่า อสูร สงเคราะห์ลงในเปตตวิสัยด้วย จึงเป็นอันสงเคราะห์ลงได้บริบูรณ์ และในคติ 5 นั้น 3 คติแรกจัดเป็นทุคติ (woeful courses) 2 คติหลังเป็นสุคติ (happy courses). * ที.ปา. 11/281/246; ม.มู 12/170/148; องฺ.นวก. 23/272/450 (D.III.234; M.I.73; A.IV.459) ** อุ.อ. 174; อิติ.อ. 168 (approx., UdA.140; ItA.101) อนึ่ง พึงเทียบภูมิ 4 หรือ ภูมิ 31 ข้อนี้ กับ [162] ภูมิ 4 ที่มาในพระบาลีด้วย กล่าวคือ ภูมิ 4 หรือ 31 ชุดนี้ จัดเข้าในภูมิ 3 ข้อต้นใน [162] ภูมิ 4 ดังนี้ อบายภูมิ 4 และกามสุคติภูมิ 7 รวมเข้าเป็นกามาวจรภูมิ (11) ส่วนรูปาวจรภูมิ (16) และ อรูปาวจรภูมิ (4) ตรงกัน รวมภูมิทั้งหมด 31 นี้ เป็นโลกียภูมิ พ้นจากนี้ไปเป็นโลกุตตรภูมิ ดู [162] ภูมิ 4; [198] อบาย 4; [207] อรูป 4; [270] สวรรค์ 6.
|
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ที่เกิดของพระอนาคามี&detail=on
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%B7%D5%E8%E0%A1%D4%B4%A2%CD%A7%BE%C3%D0%CD%B9%D2%A4%D2%C1%D5&detail=on
บันทึก ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗, ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ DhammaPerfect@yahoo.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น