ระบบธรรม
ธรรมาธิบายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์สมัยพุทธกาล เข้าใจง่าย ชัดเจน เชื่อมโยง
(๑) อนาคามีคือ อริยบุคคล ผู้ปฏิบัติเพื่อละกามราคะและพยาบาทโดยไม่เหลือชื่อว่าผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล บุคคลใดละกามราคะและพยาบาทได้โดยไม่เหลือ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นอนาคามี
(๒) บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง ๕ ประการสิ้นไป เป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในเทวโลกชั้นสุทธาวาสนั้น ไม่กลับมาจากภพนั้นเป็นธรรมดา บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นอนาคามี
อนาคามีแยกออกเป็น ๕ จำพวกคือ อันตราปรินิพพายี อุปหัจจปรินิพพายี อสังขารปรินิพพายี สสังขารปรินิพพายี อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี
(๕) พระอนาคามี ๕
๑. อันตราปรินิพพายี [พระอนาคามีผู้ที่จะปรินิพพานในระหว่างอายุยังไม่ทันถึงกึ่ง]
๒. อุปหัจจปรินิพพายี [พระอนาคามีผู้ที่จะปรินิพพานต่อเมื่ออายุพ้นกึ่งแล้ว จวนถึงที่สุด]
๓. อสังขารปรินิพพายี [พระอนาคามีผู้ที่จะปรินิพพานด้วย ไม่ต้องใช้ความเพียรนัก]
๔. สสังขารปรินิพพายี [พระอนาคามีผู้ที่จะปรินิพพานด้วย ต้องใช้ความเพียร]
๕. อุทธโสโต อกนิฏฐคามี [พระอนาคามีผู้มีกระแสในเบื้องบนไปสู่ชั้นอกนิฏฐภพ]
ที่อยู่ของพระอนาคามี สุทธาวาส ๕
๑. อวิหา
๒. อตัปปา
๓. สุทัสสา
๔. สุทัสสี
๕. อกนิฏฐา
(๓) เมื่อภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ ๒ นี้ คือ กามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ส่วนละเอียด ๆ
อนุสัย ๒ นี้ คือ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย ส่วนละเอียด ๆ ย่อมสิ้นไปด้วยอนาคามิมรรค
(๔) อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์บางจำพวกในโลกนี้ จุติจากกายนั้นแล้วเป็นอนาคามีกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้
บุคคลบางคนในโลกนี้ ยังละโอรัมภาคิยสังโยชน์ไม่ได้ แต่เขาบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนะในปัจจุบัน บุคคลนั้นชอบใจ ยินดีและถึงความปลื้มใจด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น ยับยั้งอยู่ในเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น น้อมใจไป อยู่จนคุ้นในเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น ไม่เสื่อม
เมื่อทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเหล่าเทวดาผู้เข้าถึงชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนภพ เขาจุติจากชั้นนั้นแล้วย่อมเป็นอาคามี กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้
อะไรเป็นปัจจัยเครื่องให้สัตว์บางจำพวกในโลกนี้ จุติจากกายนั้นแล้วเป็นอนาคามี ไม่กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้
บุคคลบางคนในโลกนี้ ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้แล้ว บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนะในปัจจุบัน บุคคลนั้นชอบใจ ยินดี และถึงความปลื้มใจ ด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น ยับยั้งในเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น น้อมใจไป อยู่จนคุ้นในเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น ไม่เสื่อม
เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเหล่าเทวดาผู้เข้าถึงชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนภพ เขาจุติจากชั้นนั้นแล้ว ย่อมเป็นอนาคามี ไม่กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้
(๖) ภิกษุยังละธรรม ๖ ประการไม่ได้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล ธรรม ๖ ประการ คือ
ความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑
ความเป็นผู้ไม่มีหิริ ๑
ความเป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ ๑
ความเป็นผู้เกียจคร้าน ๑
ความเป็นผู้มีสติเลอะเลือน ๑
ความเป็นผู้มีปัญญาทราม ๑
ภิกษุละธรรม ๖ ประการได้แล้ว ย่อมเป็นผู้ควรเพื่อ ทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล ธรรม ๖ ประการ คือ
ความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑
ความเป็นผู้ไม่มีหิริ ๑
ความเป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ ๑
ความเป็นผู้เกียจคร้าน ๑
ความเป็นผู้มีสติเลอะเลือน ๑
ความเป็นผู้มีปัญญาทราม ๑
(๗) เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งคือโลภะ โทสะ โมหะ โกธะ มักขะ มานะได้ เราเป็นผู้รับรองเธอทั้งหลายเพื่อความเป็นพระอนาคามี
อ้างอิง:
(๖) อนาคามิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๓๓๖ หน้า ๓๗๔
(๗) โลภสูตร โทสสูตร โมหสูตร โกธสูตร มักขสูตร มานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๑๗๙-๑๘๔ หน้า ๑๕๘-๑๖๑
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น